ประเพณีวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ของไทย
ประเพณีสงกรานต์ กิจกรรมวันขึ้นปีใหม่ของไทย พอย่างเข้าเดือนเมษายนทีไร ทุกคนคงจะต้องนึกถึงวันวันหนึ่ง ซึ่งก็คือ “วันสงกรานต์” ซึ่งเป็นประเพณีไทยของคนไทยทุกภาค เอาละเรามาเริ่มทำความรู้จักกับวันสงกรานต์กันดีกว่า
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี แต่ในปัจจุบัการเฉลิมฉลองในประเพณีสงกรานต์นั้นได้ละทิ้งความงดงามของประเพณีไทยในสมัยโบราณไปเกือบหมดสิ้น คงไว้เพียงแต่ภาพลักษณ์แห่งความสนุกสนาน
ประเพณีวันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนกระทั่งมาเปลี่ยนแปลงให้เป็นวันที่ 1 มกราคม ตามหลักสากลของนานาประเทศเมื่อปี พ.ศ.2483 แต่แม้จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงตามหลักสากลแล้ว สำหรับคนไทยเองก็ยังยึดเอาวันสงกรานต์เป็นวันที่มีความสำคัญอยู่
ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์" วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การก้าวขึ้น ย้ายขึ้น เคลื่อนย้าย ในที่นี้หมายถึงการเคลื่อนที่ของพระอาทิตย์จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 13 14 15 เมษายน โดย
วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” หรือ “วันสังขารล่อง” ถือเป็นวันสงกรานต์ปี
วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” หรือ “วันเน่า” ซึ่งแปลว่า “อยู่” หมายถึงอีก 1 วันถัดจากวันมหาสงกรานต์ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีใหม่เรียบร้อยแล้ว
วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราช เรียกว่า “วันเถลิงศก” หรือ “วันพญาวัน” ซึ่งเป็นวันสำคัญวันแรกของปีใหม่
สำหรับประเพณีไทยสงกรานต์นั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นวันที่ลูกหลานจะกลับมาสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จึงถือเอาวันสงกรานต์เป็น ”วันครอบครัว” อีกหนึ่งวันด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น